วันศุกร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

นักโภชนาการ ระบุเด็ก “เตี้ย-อ้วน-ผอม” ทำไอคิวต่ำ


 นักโภชนาการชี้ เตี้ย อ้วน ผอม ปัญหาเรื้อรังโภชนาการเด็ก ทำไอคิวต่ำ อึ้ง! เด็กเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 จากร้อยละ 2 พุ่งเป็นร้อยละ 18 ชู อปท.ช่วยแก้ปัญหาได้ เตรียมเสนอ ครม.เพิ่มงบอาหารกลางวัน



 นายสง่า ดามาพงศ์ ผู้จัดการโครงการพัฒนาระบบและกลไกเพื่อเด็กไทยมีโภชนาการสมวัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในการอบรมเรื่อง “เรียนรู้-ร่วมสร้าง...โภชนาการสมวัยในศูนย์เด็กเล็ก” หัวข้อ “จุดประกายขาวความคิด เด็กไทยมีโภชนาการสมวัย” ว่า ปัญหาเรื่องโภชนาการเด็กคืออ้วนไปและผอมไป แต่จากการทำงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มากว่า 3 ปี พบว่า อปท.เป็นหน่วยงานที่มีพลังในการทำงานอย่างมาก และสามารถจะสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีศักยภาพได้อย่างดี โดยจากการทำงานในทุกภาคทำให้ได้เครื่องมือและนวัตกรรมโภชนาการสมวัย คือ โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูปเพื่อประเมินเด็กด้านอาหารและโภชนาการ ทั้งระดับบุคคลและโรงเรียน และโปรแกรมการจัดอาหารกลางวันที่ได้มาตรฐานสำหรับศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและโรงเรียน
      
       “โภชนาการที่ดีจะทำให้เด็กไม่เตี้ย ไม่ผอม ไม่อ้วน เพราะหากกินไม่เป็น กินมากไปก็อ้วน กินน้อยไปก็ผอมและเตี้ย ซึ่งเด็กที่ผอมเกินไปพบว่า เซลล์สมองจะมีความบาง การเชื่อมโยงระหว่างเซลล์ไม่ดี ทำให้เด็กกลายเป็นคนไอคิวต่ำ เรียนไม่รู้เรื่องทำให้โง่ อ่อนแอ และจนกลายเป็นวงจรต่อๆ ไป ส่วนเด็กอ้วนก็จะกลายเป็นผู้ใหญ่อ้วนได้ถึงร้อยละ 30 และหากอ้วนจนถึงวัยรุ่นก็จะกลายเป็นผู้ใหญ่อ้วนร้อยละ 80 ซึ่งเสี่ยงทำให้เกิดโรคเบาหวาน มะเร็ง หัวใจ และหลอดเลือด จากการติดตามสถานการณ์โรคเบาหวาน ช่วงเวลา 5 ปี พบว่า การเกิดเบาหวานชนิดที่ 2 ในเด็กเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากร้อยละ 2 เป็นร้อยละ 18 ซึ่งเกิดจากภาวะน้ำหนักเกิน และยังพบว่าเด็กก่อนวัยเรียนอ้วนถึงร้อยละ 40 ด้วย” นายสง่า กล่าว
      
       นายสง่า กล่าวอีกว่า ปัจจุบันเด็กไทยไม่มีภูมิคุ้มกันทางปัญญาในการเลือกซื้ออาหาร เด็กส่วนใหญ่เลือกซื้ออาหารตามความรู้สึก ตามโฆษณาชวนเชิญ เด็กไม่สามารถเลือกจากสารอาหาร จากคุณค่าทางโภชนาการ ทำให้เด็กได้รับอาหารด้อยคุณภาพอยู่ตลอดเวลา โดยพบว่าเด็กไทย ร้อยละ 49.6 กินขนมกรุบกรอบที่ด้อยคุณค่า โดย 1 ใน 3 ของเด็กไทยได้รับไขมัน โซเดียม น้ำตาลเกินปริมาณที่ร่างกายต้องการ นอกจากนี้ ยังพบว่าจากการสำรวจในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เด็กที่รับประทานอาหารเช้ามีเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้น แม้ว่าจะเป็นพื้นที่เขตต่างจังหวัดตัวเลขก็ใกล้เคียงกับเขตเมือง ซึ่งมื้อเช้าถือเป็นมื้อสำคัญที่สุด อีกทั้งยังรับประทานผัก ผลไม้ไม่เพียงพอต่อความต้องการ
      
       “จากการติดตามพบว่าเด็กที่อยู่ในโรงเรียนที่มีผักผลไม้เป็นของว่างจะช่วยลดความอ้วนลงได้ร้อยละ 30 โรงเรียนที่ให้เด็กออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ จะทำให้เด็กอ้วนน้อยกว่าร้อยละ 20 ส่วนเด็กที่อยู่ในโรงเรียนที่ขายน้ำอัดลมเด็กจะอ้วนเป็น 2 เท่าของโรงเรียนที่ไม่มีน้ำอัดลมขาย อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญอีกเรื่องคือ การเพิ่มงบประมาณรายหัวสำหรับค่าอาหารกลางวัน จาก 13 บาทเป็น 20 บาท ถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้เด็กได้มีโภชนาการที่ดีขึ้นและเกิดการพัฒนาการที่สมวัย ซึ่งเรื่องดังกล่าวจะมีการนำเสนอ คณะรัฐมนตรีเพื่อให้เห็นความสำคัญในการสร้างทรัพยากรมนุษย์ต่อไป” นายสง่า กล่าว
        
ผู้เผยแพร่/ผู้ประกาศ : กลุ่มเทคโนโลยีสุขศึกษา  
หน่วยงาน : กองสุขศึกษา
โทรศัพท์ : 025901664  
จำนวนการเข้าชม : 2 ครั้ง


เช็ค 9 สัญญาณอันตราย ก่อนโรคไข้เลือดออกระบาด

fever


เช็ค 9 สัญญาณอันตราย ก่อนโรคไข้เลือดออกระบา

 จากสถิติการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกในประเทศไทย พบว่าในปี 2556 คาดว่าจะมีอัตราการแพร่ระบาดของไข้เลือดออกสูงและคาดจะมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากที่สุดในรอบ 5 ปี โดยจากการนับอัตราการป่วยของประเทศไทยระหว่างเดือนมกราคม ถึง เมษายน รวมระยะเวลา 4 เดือน พบว่ามีผู้ป่วยประมาณ 24,000 ราย และเสียชีวิตไปแล้วทั้งสิ้น 28 ราย

               ทั้งนี้ สามารถเฉลี่ยผู้เสียชีวิตสูงสุดต่อปีประมาณ 70-100 ราย ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ มีโอกาสป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกได้มากเท่าๆกัน และพบมากในช่วงอายุ 10-25 ปี
               เด็กที่ได้รับเชื้อโรคจะมีอาการไข้สูงลอย 2-7 วัน มักไม่มีอาการไอไม่มีน้ำมูกไหล เด็กเล็กที่ป่วยเป็นไข้เลือดออกจะสังเกตความเปลี่ยนแปลงค่อนข้างยาก ทำให้ต้องดูแลเป็นพิเศษและรักษาเป็นกรณีพิเศษ โดยอาจมีอาการปวดท้อง ถ่ายเหลว ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ มีผื่นแดงตามร่างกาย มีจุดเลือดออกตามผิวหนัง เลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟันผิดปกติ
               ขณะที่เด็กบางรายที่มีอาการรุนแรงมากอาจมีอาการช็อก ซึ่งสังเกตได้ยาก เนื่องจากยังรู้สติดีอยู่ แต่จะดูอ่อนเพลีย ไม่มีแรงข้อสังเกตคืออาการช็อกจะตรงกับวันที่ไข้ลง หรือไข้ต่ำลง อย่างไรก็ตาม ถ้าเฝ้าสังเกตและพบเห็นอาการบ่งชี้ว่าอาจเป็นอาการนำของภาวะช็อกควรรีบนำตัวเด็กเข้ารับการรักษากับแพทย์ผู้มีความเชี่ยวชาญอย่างเร่งด่วน
               โดย 9 อาการเร่งด่วน ที่ต้องรีบเดินทางพบแพทย์ ได้แก่
  1. ไข้ลงหรือไข้ลดลงแต่ยังไม่สามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้ตามปกติ อาทิ เบื่ออาหาร ไม่ค่อยเล่น และอ่อนเพลีย
  2. คลื่นไส้ อาเจียน ตลอดเวลา 
  3. ปวดท้องมาก
  4. มีเลือดออกมาก เช่น เลือดกำเดาไหล อาเจียน หรือถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ
  5. พฤติกรรมของเด็กเปลี่ยนไปจากปกติ
  6. กระหายน้ำตลอดเวลา 
  7. ร้องกวนมากในเด็กเล์ก 
  8. ตัวเย็นชื้น สีผิวคล้ำลง หรือตัวเป็นลายๆนานเกิน 4-5 ชั่วโมง
  9. ปัสสาวะน้อยลงหรือไม่ถ่ายปัสสาวะ
               ผู้เชี่ยวชาญโรคไข้เลือดออก ให้คำแนะนำเสริมว่า ไข้เลือดออกเกิดจากการที่มียุงลายที่มีเชื้อไข้เลือดออกกัด ยุงลายมักกัดเวลากลางวัน จึงต้องช่วยกันกำจัดยุงลาย ด้วยการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย
               ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันและดูแลเด็กให้ห่างไกลโรคไข้เลือดออก  จึงสามารถป้องกันแบบบูรณาการได้โดยดำเนินการควบคู่กันตั้งแต่ระดับตัวเอง อาทิ ใส่เสื้อผ้าแขนยาวและกางเกงขายาว หรือนอนหลับในห้องที่ติดมุ้งลวดมิดชิด ทาสารกันยุงที่ปลอดภัย เช่น ตะไคร้หอม ระดับครัวเรือน ควรกำจัดแหล่งน้ำขังตามสถานที่ต่างๆ อาทิ อุปกรณ์ในครัวเรือนและอุปกรณ์ซักล้างควรคว่ำหรือปิดฝาให้เรียบร้อย เปลี่ยนน้ำรองขาโต๊ะหรือในแจกันทุกสัปดาห์ หรือผสมเกลือ หรือตรวจสอบรอบบริเวณบ้าน รางระบายน้ำบนหลังคาว่ามีแอ่งขังน้ำหรือไม่
               สำหรับการป้องกันในระดับชุมชน ต้องร่วมมือกันในการรณรงค์กำจัดแหล่งน้ำขังภายในชุมชนปีละ 2-3 ครั้ง หรือพ่นยาฆ่าแมลงในเขตชุมชนปีละ2-4 ครั้ง เป็นต้น เพียงเท่านี้ เด็กน้อยและตัวคุณเองก็ห่างไกลจากโรคไข้เลือดออกอย่างแน่นอน

ค้นหาบล็อกนี้