วันพฤหัสบดีที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2561

5 ข้อควรรู้เกี่ยวกับ โรคพิษสุนัขบ้า ที่กำลังระบาดตอนนี้

    Image copyrightAFP/GETTY IMAGES

         เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเตือนให้ประชาชนนำสัตว์เลี้ยงเข้ารับการฉีดวัคซีน และเน้นย้ำให้ผู้ที่ถูกสัตว์เลี้ยงกัดต้องรีบพบแพทย์ทันที หลังพบผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าแล้ว 3 รายใน จ.สุรินทร์ ตรัง และสงขลา
            ล่าสุดสำนักควบคุม ป้องกัน และบำบัดโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์ ได้ประกาศให้ 22 จังหวัดในประเทศไทย เป็นเขตโรคระบาดชั่วคราวในขั้น "น่าเป็นห่วง" หลังพบจำนวนสัตว์ป่วยและเสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้ายังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
      1. สถานการณ์เป็นอย่างไร ?

              ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา มีสัตว์ที่ถูกตรวจพบว่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้า เพิ่มจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วกว่าเท่าตัว (จาก 160 เป็น 341 ตัว) ตามข้อมูลจากสำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์
             มากกว่าครึ่งของสัตว์ที่ตรวจพบว่าป่วยเป็นโรคพิษสุนัขบ้า เป็นสัตว์ทีมีเจ้าของ ซึ่งขัดกับความเชื่อที่ว่าสัตว์เร่ร่อนเป็นพาหะนำโรคพิษสุนัขบ้า โดยสัตว์ที่พบว่าติดเชื้อมากที่สุดคือ สุนัข (89.40%) ตามมาด้วยวัว (6.47%) และแมว (3.42%)

    Image copyrightGETTY IMAGESคำบรรยายภาพประเทศไทยมีประชากรสุนัขมากกว่า 7.38 ล้านตัว ตามสถิติปี 2559 ของสำนักงานปศุสัตว์
    สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้านับว่าแย่ลง โดยมีจังหวัดที่น่าเป็นห่วงเพิ่มเป็น 22 จังหวัด จาก 13 จังหวัดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้แก่ กรุงเทพฯ, นนทบุรี, สมุทรปราการ, สมุทรสงคราม, ชลบุรี, สุรินทร์, ฉะเชิงเทรา, น่าน, บุรีรัมย์, อุบลราชธานี, เชียงราย, ร้อยเอ็ด, สงขลา, ระยอง, ตาก, ศรีสะเกษ, มหาสารคาม, นครราชสีมา, ตรัง, ประจวบคีรีขันธ์, อำนาจเจริญ และยโสธร
         2. โรคพิษสุนัข เป็นอย่างไร ?

                 โรคพิษสุนัขบ้า เป็นโรคติดต่อร้ายแรงที่เกิดจากเชื้อไวรัสที่ส่งผลกระทบต่อระบบประสาท จากการได้รับเชื้อไวรัสจากน้ำลายของสัตว์ที่ติดเชื้อ เช่น แมว หนู ลิง ค้างคาว และที่พบได้บ่อยที่สุดคือ สุนัข
    เชื้อพิษสุนัขบ้ามีระยะเวลาฟักตัวระหว่าง 2-8 สัปดาห์ และมีผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้ผู้ป่วยมีอาการเริ่มแรก เช่น กังวล ปวดหัว และเป็นไข้
             เมื่อเชื้อแพร่กระจายไปยังส่วนประสาทส่วนกลางจะก่อให้เกิดการอักเสบในสมองและกระดูกสันหลัง ซึ่งนำไปสู่การเสียชีวิตหากไม่สามารถฉีดวัคซีนป้องกันโรคได้ทัน

                ผู้ป่วยส่วนมากได้รับเชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้าจากน้ำลายของสัตว์ที่ป่วย ซึ่งกรณีหลักจะเกิดขึ้นเมื่อสัตว์ที่ป่วยกัด ข่วน หรือเลีย ทำให้น้ำลายเข้าสู่ร่างกายผ่านทางบาดแผลหรือบริเวณริมฝีปากและนัยน์ตา


    Image copyrightGETTY IMAGES




    3. ทำอย่างไรเมื่อโดนกัดหรือข่วน?

              หากถูกสัตว์ที่สงสัยว่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้ากัดหรือเลียบาดแผล ต้องรีบล้างแผลด้วยน้ำและสบู่โดยเร็วที่สุด ก่อนจะเดินทางไปพบแพทย์ และควรขังสัตว์ตัวนั้นไว้เพื่อสังเกตอาการเป็นเวลา 10 วัน
              ปัจจุบันยังไม่มียาที่สามารถรักษาโรคพิษสุนัขบ้าได้ อย่างไรก็ตามแพทย์สามารถป้องกันการติดเชื้อที่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้เกือบ 100%
            ข้อสำคัญคือผู้ติดเชื้อจะต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที และฉีดวัคซีนตามที่แพทย์กำหนดอย่างเคร่งครัด เพราะหากปล่อยให้ติดเชื้อจนถึงขั้นที่แสดงอาการผู้ป่วยมักจะเสียชีวิต
           วิธีป้องกันที่ดีที่สุด คือ ผู้เลี้ยงสัตว์ทุกคนควรนำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า

    Image copyrightSCIENCE PHOTO LIBRARY

    4. สัตว์ที่ป่วยด้วยโรคพิษสุนัขบ้ามีอาการอย่างไร?
              สภากาชาดไทย อธิบายอาการของสัตว์ที่ป่วยเป็นโรคพิษสุนัขบ้าไว้ 2 แบบ คือ
                แบบดุร้าย สัตว์มีอาการหงุดหงิด ตื่นเต้น วิ่งพล่าน ไล่กัดคนและสัตว์ตัวอื่น โดยสุนัขจะแสดงอาการเช่นนี้ประมาณ 2-3 วัน หลังจากนั้นจะอ่อนเพลีย ขาหลังไม่มีแรง เดินโซเซ และเสียชีวิตในที่สุด
               แบบเซื่องซึม สังเกตได้ยากกว่าเพราะสัตว์จะมีอาการเหมือนโรคอื่น ๆ เช่น ไข้หวัด หรือ โรคหัด โดยจะมีอาการลิ้นห้อง ปากอ้าหุบไม่ได้ ตัวแข็งเป็นอัมพาต บางตัวมีอาการชักและตายในที่สุด
               ทั้งนี้หากไม่แน่ใจควรนำสัตว์ไปให้สัตวแพทย์ดูอาการ เพราะสัตว์บางตัวอาจมีเชื้อพิษสุนัขบ้าแต่ไม่แสดงอาการ


    Image copyrightAFP/GETTY IMAGES




    5. เหตุใดปีนี้จึงแย่กว่าทุกปี ?

                  ก่อนหน้านี้มีรายงานข่าวว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หลายพื้นที่ได้หยุดฉีดวัคซีนให้กับสัตว์ ในช่วงกว่า 1-2 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากถูกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ทักท้วงว่า อปท. ไม่ได้มีภารกิจจัดหาวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้กับประชาชนและเป็นการดำเนินการที่ขัดต่อกฎหมาย
                 ประชาไท และ Hfocus รายงานว่า นายธีรวุฒิ กลิ่นกุสุม นายกเทศมนตรีนครรังสิต จ.ปทุมธานี กล่าวว่า ที่ผ่านมาพื้นที่ของเขาได้รับผลกระทบจากการท้วงติงจาก สตง. ค่อนข้างมาก และอาจเป็นเหตุที่ทำให้สถานการณ์ดูรุนแรงขึ้นในหลายพื้นที่ อย่างไรก็ตาม เขากล่าวว่าในปีนี้รัฐบาลได้จัดสรรงบให้ท้องถิ่นฉีดวัคซีนเอง ตามโครงการสัตว์ปลอดโรคคนปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งทำให้ปัญหาทุเลาลง

                อย่างไรก็ตาม นายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่า สตง. แถลงว่าเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อน เนื่องจาก อปท. สามารถดำเนินการป้องกันและควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าให้เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้ และเคยมีทำหนังสือด่วนที่สุดแจ้งไปทางทุกจังหวัดตั้งแต่กลางปี 2558 แล้ว

               ขณะที่ นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส อดีตผู้ว่าการ สตง. ตรวจเงินแผ่นดิน กล่าวกับ ไทยพีบีเอส ว่าเมื่อปี 2559 สตง. เคยตรวจสอบการจัดซื้อวัคซีนควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าแทบทุกจังหวัด เนื่องจากการสุ่มตรวจในช่วงโรคระบาด หรือ ฤดูร้อน ได้พบปัญหาว่า หน่วยงานท้องถิ่นมักมีการจัดซื้อวัคซีนจำนวนมาก ที่ไร้คุณภาพและในราคาแพงหลายเท่าตัว

              โรคพิษสุนัขบ้าสามารถเกิดได้ทุกฤดูกาล แต่กรมควบคุมโรคได้เตือนด้วยว่าช่วงหน้าร้อนมีส่วนเพิ่มความเสี่ยง เพราะนอกจากสัตว์หงุดหงิดง่ายขึ้นแล้ว ยังเป็นช่วงเด็กนักเรียนปิดเทอม จึงทำให้มีผู้เสี่ยงถูกกัดมากขึ้น

    Image copyrightTAYLOR WEIDMAN/GETTY IMAGES

    ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้า โดยองค์การอนามัยโลก
    โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคที่เกิดจากไวรัสที่สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน
    40% ของผู้ที่ถูกสัตว์ที่เชื่อว่าติดเชื้อพิษสุนัขบ้า เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี
    มนุษย์ติดเชื้อพิษสุนัขบ้าจากสุนัขมากกว่าสัตว์ทุกชนิด คิดเป็นราว 99%
    โรคพิษสุนัขบ้า ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายหมื่นคนต่อปี โดยเฉพาะในเอเชียและแอฟริกา
    การล้างแผลด้วยน้ำและสบู่หลังจากสัมผัสสัตว์ต้องสงสัย สามารถช่วยลดความเสี่ยงติดเชื้อได้อย่างมาก
    การกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไป ทำได้ด้วยการฉีดวัคซีนให้กับสุนัขและป้องกันเ
  • เหตุสุนัขกัด

ค้นหาบล็อกนี้