นายแพทย์กฤษดา ศิรามพุช ผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์ กล่าว ว่า ในช่วงเดือนสิงหาคมของทุกปี ที่ทุกคนระลึกถึงพระคุณของแม่โดยการทำดีเพื่อเป็นการตอบแทนคุณท่าน ซึ่งขอแนะนำให้เปลี่ยน 7 อย่างสร้างสุขให้แม่ ด้วยวิธีง่าย ๆ สไตล์อายุรวัฒน์ โดยให้มีวิถีชะลอวัย โดยไม่จำเป็นต้องปล่อยไปตามวัยเสมอ ดังนี้คือ 1. เปลี่ยนอาหาร ผู้ที่เป็นมารดามักต้องเสียสละร่างกายส่วนหนึ่งเพื่อไปสร้างเป็นร่างกายลูก น้อย ส่วนหายไปทำให้คุณแม่ทรุดโทรมได้เมื่อถึงวัยหนึ่ง การเปลี่ยนอาหารช่วยคุณแม่นั้นขอให้เริ่มที่ ชา,กาแฟ,น้ำอัดลม,น้ำหวานและแอลกอฮอล์ ขอให้เป็นน้ำเพื่อสุขภาพนั่นคือ “น้ำเปล่า” และ “น้ำผักผลไม้ปั่นทั้งกาก” ส่วนในเรื่องมื้ออาหารขอให้ทานแบบไม่ต้องหนักทั้ง 3 มื้อก็ได้ ปรับมื้อเย็นให้เบาลงเป็นสลัดหรือผักน้ำพริกไม่มีข้าว เอาอาหารแคลเซียมสูงเติมเข้าไป อาทิ เต้าหู้,งาดำและปลาเล็กให้คุณแม่รับประทาน “เติมกระดูก” ให้ลูกควงแขนเดินเล่นได้นานๆ
2.เปลี่ยนน้ำดื่ม การดื่มน้ำแบบคุณแม่ต้องเลือกดื่มที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพจริง ๆ น้ำเปล่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุด แต่คุณแม่หลายท่านไม่คุ้นชิน การกินน้ำชา,กาแฟหรือน้ำแร่นั้นก็เป็นเรื่องนานาจิตตังสุดแต่คุณแม่นิยมครับ แต่หลักการก็คือให้มีน้ำเข้าสู่ร่างกายอย่างน้อยวันละ 2 ลิตรเพื่อบำรุงสมองและหัวใจของคุณแม่ให้ไม่เสื่อมไวจากการอักเสบตามวัย 3.เปลี่ยนการนอน คนเมื่อถึงวัยคุณแม่แล้วมักบ่นว่านอนได้น้อยลงหรือไม่ก็ตื่นไวขึ้น การนอนที่ดีของคุณแม่ขอคุณลูกแค่แอบสังเกตว่า “นอนกลางวัน” หรือไม่ถ้าใช่ให้ชวนคุณแม่ทำกิจกรรมอื่นแทนการนอน ถ้ายังไม่หลับอีกก็ให้หา “น้ำเชอรี่”, “ขี้เหล็ก”, “มะตูม” หรือชาคาโมไมล์อุ่นท้องมาให้คุณแม่รับประทานจะช่วยได้มาก
4.เปลี่ยนการนั่ง คุณแม่หลายท่านมีเรื่อง “น้ำหนักเกิน” จากการไม่ค่อยลุกเดิน ขอให้ชวนคุณแม่มาลุกเดินรอบบ้านบ้างหรือเปลี่ยนโลเคชั่นสวยๆ นอกบ้านให้คุณแม่รู้สึกอยากเดิน ไม่เช่นนั้นอาจทำให้ “ข้อเข่า” และ “ข้อสะโพก” มีปัญหา แต่ถ้ามีคุณแม่ที่ขยันไม่หยุด เดินทั้งวันก็ขอให้คุณลูกดูอย่าให้ท่านั่งท่า ขัดสมาธิ,พับเพียบ,ยองๆ และคุกเข่าบ่อยเกินไปเพราะทำลายข้อได้
5.เปลี่ยนข้อไหล่ข้อเข่า นั่นคือเปลี่ยนให้คุณแม่ได้พักร่างกายบ้าง อย่างการหิ้วของหนักหรือยกของจนข้อไหล่และหลังแทบพังนั้นขอให้เว้นไว้เลย เพราะคุณแม่อาจมีปัญหากับ “โรคกระดูกพรุน (Osteoporosis)” หรือกระดูกบางระยะเริ่มต้นมาก่อนแล้ว ลองคิดง่ายว่าตั้งแต่เราเกิดมาก็มีแม่คอยอุ้ม ครั้นโตขึ้นแม่บางท่านต้องช่วยหิ้วกระเป๋าหนังสือ เมื่อเติบใหญ่ทำงานได้แล้วคุณแม่ก็อาจยังต้องคอยช่วยดูแลกิจการ ช่วยยกข้าวของหรือซักผ้าทำงานบ้านเพื่อให้ลูกสบายขึ้น ขอให้จับมือคุณแม่ไว้แล้วช่วยให้ท่านเบาแรง 6.เปลี่ยนหัวใจ ในที่นี้หมายถึงจิตใจข้างในของคุณแม่ต้องแก้ที่ “เครียด” ด้วย ในผู้ใหญ่เราพบภาวะเครียดเก็บไว้ข้างในจนกลายเป็น “ซึมเศร้า (Depressive mood disorder)” ได้มาก หากมีอาการเหงาๆ เงียบๆ ไปขอให้ลูกๆ เข้าไปทัก นอนตัก นั่งนวด ลูบเนื้อตัวให้คุณแม่ แค่นี้ก็ช่วยล้างพิษพิชิตเครียดในหัวใจคุณแม่ได้แล้ว เปลี่ยนให้ความเครียดนั้นกลายเป็นความสุขตามประสาแม่ลูก
7.เปลี่ยนรัก ให้คุณแม่ได้พักบ้าง เพราะความรักของแม่นั้นเป็นอนันต์ ทุกๆ วันแม่มีแต่คอยรักและห่วงลูกจนเมื่อแม่ย่างเข้าวัยอาวุโสขึ้น แม่จะรู้สึกว่าต้องฝืนร่างกายดูแลลูกทำกับข้าวหรือดูแลบ้านเพื่อลูกเพราะคำ ว่า “รัก” คำเดียวเท่านั้น ข้อนี้สำคัญครับคือขอให้ลูกเปลี่ยนมาเป็นฝ่ายรักแม่อย่างที่แม่ทำบ้าง ให้แม่วางภาระงานลงแล้วหาคนมาช่วยทำงานบ้าน โดยตัวลูกเองลงมาชวนคุณแม่ทำกิจกรรมเล็กๆน้อยด้วย กันพอให้ไม่เหงาเช่น ทำกับข้าวให้แม่กิน, ชวนแม่ทำสวนหรือชวนกันเดินเล่นกวาดพื้นแถวซอยบ้าน
สำหรับเรื่องการ “เปลี่ยน” นั้น น.พ.กฤษดา กล่าวว่า เป็นเรื่องสำคัญที่ลูกทุกคนจะทำให้คุณแม่ได้ เพราะดวงใจของคุณแม่ก็คือลูก ลงถ้าลูกเป็นห่วงและขอร้องแล้วก็เชื่อว่าคุณแม่ส่วนใหญ่คงพร้อมที่จะทำอย่าง ปลื้มใจที่สุด แต่ก็ขอให้อย่าเพิ่งหยุดการเปลี่ยนนี้ที่แค่คุณแม่ เพราะตัวลูกเองก็อาจ “เปลี่ยน” ให้คุณแม่มีความสุขได้เช่นกัน โดยเปลี่ยนสำคัญที่มอบเป็นของขวัญในวันแม่ได้ก็คือ เปลี่ยนการดื่มเหล้า, สูบบุหรี่, เปลี่ยนการกินเที่ยวดึกๆ หรือเปลี่ยนตัวตนเป็นคนขยันช่วยคุณแม่ให้ไม่ต้องเหนื่อยตลอดชีพ เพราะความสำคัญอยู่ที่ “รักจากลูก” นั่นเองที่ทำให้แม่ไม่เกรงกลัวการเปลี่ยนแปลง ด้วยแรงรักที่ทำให้ “เปลี่ยน” นี้จะทำให้แม่มีสุขภาพดีอยู่กับลูกไปนานแสนนาน
ที่มา: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น